เทศบาลตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา : www.nongkradcity.go.th

 
 
 


การคัดแยกขยะและการรีไซเคิลขยะเพื่อลดภาวะโลกร้อน


 

การคัดแยกขยะและการรีไซเคิลขยะเพื่อลดภาวะโลกร้อน

 

           ขยะ หรือ มูลฝอย หรือ ของเสีย เป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีผล    ต่อสุขภาพอนามัย มูลฝอยหรือของเสียกำลังมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพราะสาเหตุจากการเพิ่มของประชากร     การขยายตัวทางเศรษฐกิจและทางอุตสาหกรรม นับเป็นปัญหาที่สำคัญของชุมชนซึ่งต้องจัดการและแก้ไข ปริมาณกากของเสียและสารอันตราย ได้แก่ ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ ดิน และอากาศ ตลอดจนบางส่วนตกค้างอยู่ในอาหาร ทำให้ประชาชนทั่วไปเสี่ยงต่ออันตรายจากการเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง และโรคผิดปกติทางพันธุกรรม เป็นต้น

ขยะ เป็นปัญหาใหญ่อันดับหนึ่งในสังคมปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะสูงถึง 8.5 พันตันต่อวัน หากคิดเฉลี่ยเป็นรายบุคคลแล้ว 1 คนจะก่อให้เกิดขยะในปริมาณ 0.8 - 1 กิโลกรัมต่อวัน จึงเป็นภาระหนักของ กทม. ในการกำจัดขยะเหล่านั้น ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นมากมายนี่เองส่งผลให้มีขยะตกค้างเป็นจำนวนมากในแต่ละวันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพความเป็นอยู่ในสังคมมากมาย ได้แก่

-   บ้านเมืองสกปรกไม่น่ามอง เสียทัศนียภาพ ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน

-   เป็นแหล่งเพราะพันธุ์สัตว์และพาหนะนำโรคต่าง ๆ เช่น หนู แมลงสาบ แมลงวัน ทั้งยังเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคโดยตรง เช่น อหิวาตกโรค อุจจาระร่วง บิด โรคผิวหนัง บาดทะยัก โรคทางเดินหายใจ เป็นต้น

-   ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารพิษ เช่น ตะกั่ว ปรอท ลงสู่พื้นดิน และแหล่งน้ำ

-   ทำให้แหล่งน้ำเน่าเสีย

-   ท่อระบายน้ำอุดตัน อันเป็นสาเหตุของปัญหาน้ำท่วม

-   เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละออง เขม่า ควัน จากการเผาขยะ และเกิด ก๊าชมีเทนจากการฝังกลบขยะ

-   ขยะบางชนิดไม่ย่อยสลาย และกำจัดได้ยาก เช่น โฟม พลาสติก ทำให้ตกค้างสู่สิ่งแวดล้อม

โครงการรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนร่วมกันคัดแยกขยะ จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการลดปริมาณขยะที่ออกมาจากบ้านเรือน สำนักงานและสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขยะมูลฝอย

  1. ความมักง่ายและขาดความสำนึกถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น เป็นสาเหตุที่พบบ่อยมาก ซึ่งจะเห็นได้จากการทิ้งขยะลงตามพื้น หรือแหล่งน้ำ โดยไม่ทิ้งลงในถังรองรับที่จัดไว้ให้ และโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งลักลอบนำสิ่งปฏิกูลไปทิ้งตามที่ว่างเปล่า
  2. การผลิตหรือใช้สิ่งของมากเกินความจำเป็น เช่น การผลิตสินค้าที่มีกระดาษหรือพลาสติกหุ้มหลายชั้น และการซื้อสินค้าโดยห่อแยกหรือใส่ถุงพลาสติกหลายถุง ทำให้มีขยะปริมาณมาก
  3. การเก็บและทำลาย หรือนำขยะไปใช้ประโยชน์ไม่มีประสิทธิภาพ จึงมีขยะตกค้าง กองหมักหมม และส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณจนก่อปัญหามลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม

 

ประเภทของขยะสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

  1. ขยะเศษอาหาร พืช ผัก ผลไม้ หรือที่แต่เดิม กทม. เรียกว่า ขยะเปียก ได้แก่ เศษอาหาร พืช ผัก เปลือก ผลไม้ อินทรียวัตถุที่ย่อยสลายเน่าเปื่อยง่าย มีความชื้นสูงและส่งกลิ่นเหม็นได้รวดเร็ว
  2. ขยะยังใช้ได้หรือเรียกว่าขยะรีไซเคิล หรือที่ แต่เดิม กทม. เรียกว่า ขยะแห้ง ได้แก่ พวก แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก เศษผ้า ฯลฯ ซึ่งเราสามารถเลือกวัสดุที่ยังมีประโยชน์กลับมาใช้ใหม่ได้อีก
  3. ขยะที่มีพิษภัยอันตรายซึ่งเกิดจากบ้านเรือน กทม. ได้ตั้งถังสีเทาฝาสีส้ม ไว้สำหรับให้ประชาชนนำขยะที่พิษภัยอันตรายซึ่งเกิดจากบ้านเรือนมาทิ้ง โดยตั้งไว้ตามสถานีบริการน้ำมัน และสถานที่อื่น ๆ ซึ่งขยะพวกนี้ ได้แก่ หลอดไฟ และหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่เสียแล้ว แบตเตอรี่รถยนต์ และถ่านไฟฉายที่หมดอายุ กระป๋องยาฆ่าแมลง และยาปราบศัตรูพืช ภาชนะใส่แลกเกอร์ และทินเนอร์ ภาชนะใส่น้ำมันเครื่อง และน้ำมันเบรก น้ำยาทำความสะอาดสุขภัณฑ์ ยารักษาโรค ที่เสื่อมคุณภาพ ฯลฯ รวมทั้งได้จัดให้มีวันทิ้งของเหลือใช้ เพื่อให้ประชาชนนำขยะประเภทนี้มาทิ้งจากนั้นก็จะจ้างบริษัทเอกชนนำไปทำลายอย่างถูกหลักวิชาการต่อไป




2024-12-18
2024-12-17
2024-12-17
2024-12-13
2024-12-13
2024-12-12
2024-12-11
2024-12-10
2024-12-09
2024-12-08